โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมสภาพ ตอนที่ ๒: การวินิจฉัยและการรักษา

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมสภาพ
(Lumbar Degenerative Disc Disease)
ตอนที่ ๒: การวินิจฉัยและการรักษา
นพ.ชัยยุทธ สุธีรยงประเสริฐ
อนุสาขาโรคทางกระดูกสันหลัง ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย

จะวินิจฉัยโรคนี้ได้อย่างไร
ประวัติ
การวินิจฉัยภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมสภาพนั้น แพทย์จะเริ่มต้นจากการซักถามประวัติอาการปวดหลังว่าเป็นมานานเท่าใด มีอาการร่วมอย่างอื่นหรือไม่เช่นอาการปวดร้าวลงขา ชา หรือไข้ หรือการควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ โรคประจำตัวหรือภาวะทางสุขภาพต่างๆ อาชีพ กิจวัตรประจำวัน การนอนหลับ กิจกรรมอดิเรก ตลอดจนการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยในอดีตเป็นต้น
ผู้ป่วยควรพบแพทย์หากปวดหลังนานกว่า 2 สัปดาห์ อาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยาแก้ปวดทั่วๆไป หรือมีอาการปวดมากผิดสังเกตแม้ในระหว่างการเปลี่ยนอิริยาบถเบาๆ หรืออาการปวดหลังที่ร้าวลงขาหรือมีอาการชาร่วมด้วย

ตรวจร่างกาย
ภายหลังการซักถามประวัติแพทย์จะทำการตรวจร่างกายว่าการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังโดยรวมเป็นเช่นไร มีท่าทางใดที่ทำให้ปวดมากขึ้นหรือเบาลง มีความผิดปกติหรือเจ็บปวดเฉพาะบริเวณหรือไม่ มีความผิดปกติของเส้นประสาทในกระดูกสันหลังแสดงออกให้เห็นหรือเปล่า สิ่งต่างๆเหล่านี้อาจช่วยบ่งชี้สาเหตุหรือตำแหน่งที่เป็นต้นตอของอาการปวด
การตรวจทางรังสีวิทยา
การตรวจยืนยันว่ามีความเสื่อมสภาพเกิดขึ้นกับหมอนรองกระดูกสันหลังอย่างแน่นอนนั้น ต้องอาศัยภาพถ่ายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI scan ซึ่งยังช่วยให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติหรือพยาธิสภาพอื่นในโครงสร้างกระดูกสันหลังด้วย เช่นกระดูกสันหลังหัก ทรุดยุบ หมอนรองกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท การติดเชื้อ หรือแม้แต่มะเร็งที่เกิดในกระดูกสันหลัง

การรักษา
เมื่อสามารถวินิจฉัยโรคได้แล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนการรักษาซึ่งประกอบด้วย
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม/กิจกรรม
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับลดหรือหลีกเลี่ยงพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่เป็นตัวกระตุ้นให้ปวดหลังเช่นการนั่งติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือท่านั่งผิดสุขลักษณะ การนั่งกับพื้น-พับเพียบ-ยองยอง-ขัดสมาธิ การก้มยกของ อุ้นเด็ก หรือการออกกำลังกายที่ต้องมีการยกน้ำหนัก มีแรงกระแทกกระเทือนมาก มีการก้ม-แอ่น-บิดตัวมากเกินพอดีหรือซ้ำๆบ่อยครั้ง
การออกกำลังกาย
แนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อบริหารเสิรมความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อแกนกลางของร่างกายคือกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลัง การบริหารเพื่อยืดกล้ามเนื้อสะโพกและกล้ามเนื้อต้นขา hamstring
การออกกำลังกายอื่นๆที่แนะนำสำหรับผู้มีปัญหาปวดหลังได้แก่ ว่ายน้ำ ออกกำลังกายในน้ำ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ การเดินปกติ และการบนเครื่องออกกำลังกาย elliptical นอกจากนี้การรำมวยจีน (Tai Chi) พิลาทริสและโยคะแบบเบื้องต้น ก็สามารถทำได้อย่างปลอดภัย
การใช้ยาและการรักษาโดยแพทย์
ผู้ป่วยอาจเริ่มต้นจากยาแก้ปวดพื้นฐานซึ่งสามารถซื้อได้ที่ร้านขายยาโดยเภสัชกร หากอาการไม่ดีขึ้นควรมาพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาใช้ยาแก้ปวดที่แรงขึ้นร่วมกับยาลดอักเสบ หรือยาอื่นแล้วแต่การวินิจฉัยโรคที่อาจมีร่วม และอาจส่งผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดควบคู่กับการใช้ยา หรือแม้แต่การรักษาด้วยวิธีการที่ซับซ้อนมากขึ้นเช่นการฉีดยาลดอักเสบเข้าสู่โพรงกระดูกสันหลังเป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพและการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละรายไป
การทำกายภาพบำบัด
ผู้ป่วยอาจเริ่มต้นด้วยตัวเองเช่น การประคบร้อนก่อนการทำกิจกรรมต่างๆซึ่งจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อแล้วประคบเย็นหลังเสร็จกิจกรรมซึ่งจะช่วยลดปวดลดอักเสบได้
การทำกายภาพบำบัดแบบเป็นทางการโดยนักกายภาพบำบัด ซึ่งจะทำการจัดโปรแกรมและใช้เครื่องมือเฉพาะทางกายภาพให้กับผู้ป่วยแต่ละรายไป ตามพยาธิสภาพหรือตามคำสั่งแพทย์
การใส่อุปกรณ์รัดกระชับหลังระดับเอวนั้นแนะนำให้ใช้ช่วงสั้นๆตอนที่มีอาการปวด ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดอาการปวดระหว่างเปลี่ยนอิริยาบถได้ แต่หากใช้ติดต่อกันนานเกินไปจะทำให้กล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อหน้าท้องไม่แข็งแรง ยิ่งไม่เป็นผลดีกับภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพ
การแพทย์ทางเลือก
การรักษาทางเลือกต่างๆเช่นการนวด กดจุด การจัดกระดูก หรือการฝังเข็ม พบว่าอาจช่วยบรรเทาอาการปวดหลังผ่านกลไกที่ช่วยให้เกิดการผ่อนคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อหลัง ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วยเป็นรายๆไปเช่นกัน

การผ่าตัดรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมสภาพ
การผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีปัญหาหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพอาจมีความจำเป็นในบางราย ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษารูปแบบต่างๆที่กล่าวข้างต้นอย่างเต็มที่แล้วเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน – 2 ปี
เนื่องจากโดยทั่วไปผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นภายใต้การรักษาแบบประคับประคองในกรอบเวลาที่กล่าวข้างต้น
การผ่าตัดมาตรฐานที่ใช้รักษาหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพ คือการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังที่อยู่ติดกับหมอนรองกระดูกสันหลังชิ้นที่เสื่อมสภาพเข้าด้วยกัน เพื่อกำจัดความไม่มั่นคงหรือการเคลื่อนคลอนในระดับจุลภาคที่เป็นสาเหตุของความปวด
ส่วนการผ่าตัดแบบอื่นเช่นการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมนั้น ยังต้องการข้อมูลยืนยันผลประจักษ์ระยะยาวเพิ่มเติม เมื่อเทียบการการผ่าแบบมาตรฐาน