โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมสภาพ ตอนที่ ๑: สาเหตุและอาการของโรค

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมสภาพ
(Lumbar Degenerative Disc Disease)
ตอนที่ ๑: สาเหตุและอาการของโรค
นพ.ชัยยุทธ สุธีรยงประเสริฐ
อนุสาขาโรคทางกระดูกสันหลัง ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมสภาพ คืออะไร
โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเสือมสภาพ เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดอาการปวดหลัง ในขณะเดียวกันก็เป็นสาเหตุที่ทางการแพทย์ในปัจจุบันยังไม่สามารถวิเคราะห์ได้ชัดเจนถึงขั้นตอนกลไกของมันได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรแน่ เราเพียงแต่พยามแยกแยะและจัดหมวดหมู่แล้วสรุปไว้เบื้องต้นว่าคือกลุ่มอาการหรือกระบวนการเสื่อมสภาพ ( wear and tear ) ของหมอนรองกระดูกสันหลังอันเกิดขึ้นตามอายุ (age related ) แล้วนำไปสู่อาการปวดหลัง

ดังนั้นจึงต้องขอให้ข้อมูลพื่อสร้างความเข้าใจบื้องต้นก่อนเช่นกันว่า หมอนรองกระดูกสันหลังที่ปกติดี ก่อนที่จะเริ่มมีการเสื่อมสภาพนั้นเป็นเช่นไร โครงสร้างของกระดูกสันของมนุษย์เราปกตินั้นมีลักษณะคล้ายกระดูกงู คือประกอบด้วยกระดูกชิ้นสั้นๆยึดต่อกันด้วยหมอนรองกระดูกสันหลัง 1 อัน และข้อต่อกระดูกเล็กๆอีก 1 คู่ เป็นเช่นนี้ตั้งแต่คอจนสุดก้นกบ แล้วภายในของกระดูกแต่ละชิ้นมีโพรงทะลุถึงกันเหมือนท่อร้อยสายไฟ ซึ่งท่อที่ว่านี้ความจริงได้บรรจุประสาทไขสันหลังและรากแขนงประสาทที่จะส่งเส้นประสาทไปสู่แขนขาและอวัยวะต่างๆไว้ มนุนษย์เรายืนตรง หมายถึงกระดูกสันหลังของเราตั้งตรงในแนวดิ่ง ดังนั้นแรงกระทำจากน้ำหนักตัวเราย่อมส่งผ่านกระดูกสันหลังแล้วจึงผ่าลงสู่ขาต่อไป นอกจากนี้มนุษย์เรายังสามารถก้มเงยบิดเอี้ยวตัวได้ ดังนั้นกระดูกสันหลังซึ่งเป็นแกนกลางของร่างกายก็ต้องเปลี่ยนรูปทรงไปตามอิริยาบถท่าทางของร่างกายเช่นกัน ซึ่งก็ต้องมีแรงกระทำในทิศทางต่างๆผ่านกระดูกสันหลัง ขณะที่ในความเป็นจริงแล้วกระดูกสันหลังส่วนที่เป็นกระดูกแข็งนั้นคงรูปไม่สามารถปรับทรงได้ ดังนั้นภาระในการปรับรูปทรงและการให้ตัวตามอิริยาบถของร่างกายจึงตกอยู่กับหมอนรองกระดูกสันหลังซึ่งเป็นเนื้อเยื่ออ่อน ถึงจุดนี้เราพอเข้าใจแล้วว่าหมอนรองกระดูกสันหลังนั้นเป็นส่วนสำคัญในการรับและส่งผ่านแรงกระทำในทิศทางต่างๆที่เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง เป็นเสมือนแหวนรองกันกระแทกระหว่างชื้นกระดูกสันหลัง และเป็นส่วนที่ให้ตัว-ปรับทรงตามอิริยาบถท่าทางของร่างกาย

หมอนรองกระดูกสันหลังมีลํกษณะเป็นแผ่นตันกลมรี หนาโดยประมาณ 1 เซ็นติเมตร เปลือกนอกเป็นเนื้อเยื่อผังผืดจำพวกคอลลาเจนอัดแน่นเป็นชั้นๆคล้ายหัวหอม เนื้อในเป็นเนื้ออ่อนคล้ายเจลลี่ เมื่อรวมกันแล้วจึงสามารถทำหน้าที่แหวนรองกันกระแทก ที่สามารถยึดเหนียวชิ้นกระดูกสันหลังไว้ด้วยกัน รับส่งผ่านแรงกระทำ และให้ตัวเมื่อมีการเคลื่อนไหวกระดูกสันหลัง และนี่คือลักษณะและภาระหน้าที่โดยปกติของหมอนรองกระดูกสันหลังที่สมบูรณ์


อาการของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเสื่อมสภาพ
เมื่อเกิดการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังบริเวณบั้นเอว ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นอาการปวดในระดับไม่รุนแรงมากนัก ปวดเรื่อยๆเป็นๆหายๆพอทนได้ อาจมีอาการปวดร้าวไปบริเวณตะโพก ขาหนีบหรือต้นขาในบริเวณใกล้เคียงกันได้ กล้ามเนื้อในบริเวณดังกล่าวอาจมีอาการตึงเจ็บได้
ผู้ป่วยอาจจะสังเกตว่าเวลานั่งนานๆแล้วเปลี่ยนอิริยาบถลุกขึ้นจะปวดมาก การนั่งเอนหลังมีหมอนหนุนประคองจะรู้สึกปวดน้อยกว่านั่งตัวตรง การได้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ นั่งบ้างยืนบ้าง หรือได้เดินสั้นๆบ้างทำให้ปวดน้อยลง
อาจจะมีบ้างบางครั้งที่อาการปวดอาจกำเริบรุนแรงอยู่หลายวันหรือเป็นสัปดาห์ แล้วค่อยบรรเทาลง
ถ้าหมอนรองกระดูกมีการเสื่อมสภาพมากๆผู้ป่วยอาจมีอาการปวดมากกะทันหันในขณะเปลี่ยนอิริยาบถหรืออาจรู้สึกคล้ายกับอ่อนแรงตัวจะทรุดได้
โดยปกติหากหมอนรองกระดูกสันหลังไม่เสื่อมสภาพมากจริงๆจนทรุดไปกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวดร้าวลงปลายขา ไม่ชาขา หรือมีอาการรบกวนการควบคุมปัสสาวะ-อุจจาระ


สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง
การเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกเกิดขึ้นแน่นอนตามอายุ โดยอาจมีปัจจัยเร่งเข้ามาซ้ำเติมเช่น อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง การใช้ชีวิตที่มีกิจกรรมโลดโผนหรือกิจกรรมที่ต้องมีการเคลื่อนไหวกระดูกสันหลังเร็วและแรงอยู่บ่อยครั้ง บางคนอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรมที่ทำให้มีปัญหากับระบบโครงสร้าง-ข้อต่อของร่างกาย บ่อยครั้งอาจมีหลายปัจจัยผสมผสานกัน หรือบางครั้งอาจระบุปัจจัยร่วมได้ไม่แน่ชัด
เมื่อมีการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกเราจะพบว่าหมอนรองกระดูกขาดเลือดและสารอาหารหล่อเลี้ยงเนื่องจากรูพรูนซึ่งเป็นช่องทางส่งการไหลเวียนเลือดจากชิ้นกระดูกสันหลังซึ่งอยู่ติดกันนั้นตีบตันลง สารคล้ายเจลลี่ซึ่งอยู่ชั้นในของหมอนรองเสียความยืดหยุ่น มีควาแข็งกระด้างมากขึ้น เยื่อหุ้มชั้นนอกของหมอนรองมีการปริฉีกและล่อนแยกชั้น
เมื่อเกิดการเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังเนื่องจากจะมีสารโปรตีนที่รั่วซึมออกมาจากหมอนรองกระดูกผ่านรูปริฉีกของเยื่อหุ้มหมอนรอง โปรตีนนี้จะก่อให้เกิดการอักเสบเมื่อมาสัมผัสกับเส้นประสาทที่อยู่รอบๆหมอนรองกระกระดูกอันนั้น นอกจากนี้อาการปวดยังเกิดจากความไม่มั่นคง-การเคลื่อนไหวหรือเคลื่อนคลอนในระดับจุลภาคของชิ้นกระดูกสันหลังที่ติดอยู่กับหมอนรองกระดูกซึ่งเสื่อมสภาพนั้น
โดยปกติแล้วอาการปวดหลังจากหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพจะค่อยบรเทาลงตามกาลเวลาเนื่องจากสารโปรตีนนั้นรั่วซึมออกมาจนหมดและหมอนรองกระดูกบางตัวลงมาจนชิ้นกระดูกสันหลังเริ่มเชื่อมสมานกันจนไม่มีการเคลื่อนตลอน

ปัจจัยเสี่ยงที่พบว่าอาจเชื่อมโยงไปสู่ภาวะหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมสภาพ
1. ประวัติครอบครัวพบว่ามีปัญหาเรื่องปวดหลังหรือปัญหาทางระบบกระดูกและข้อ
2.การบาดเจ็บเล็กๆน้อยๆที่กล้ามเนื้อหลังสะสมจากการเล่นกีฬา การยกของหนัก หรือการใช้แรงงาน
3. ความตึงเครียดสะสมในหมอนรองกระดูกจากอาชีพที่ต้องนั่งนานหรืออยู่ในท่าทางผิดสุขลักษณะ
4.กล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแรง
5. คนอ้วน
6. สูบบุหรี่